ว่านหางจระเข้..กินก็ได้ ใช้ทายิ่งดี


หลายบ้านปลูกว่านหางจระเข้ไว้เป็นไม้ประดับ บางคนก็อาจจะเคยนำมาใช้งานบ้างตามสรรพคุณที่เขาว่ากัน บางคนปลูกไว้ไม่ค่อยรดน้ำแต่กลับดีกับว่านหางจระเข้ เพราะยิ่งอวบอ้วน เพราะเป็นพืชทะเลทรายเลยไม่ค่อยง้อน้ำมากเท่าไร

ชื่อสากลของว่านหางจระเข้ที่ฝรั่งมังค่ารู้จักก็คืออะโรเวล่า สรรพคุณทางยาที่รู้จักกันดีคือช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เมื่อผิวหนังพอง หรือถูกแดดเผา ความเย็นของเนื้อว่านหางจระเข้ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ระงับความเจ็บปวดได้ ถ้าใช้สม่ำเสมอจะลดการตกสะเก็ดและอาการคัน รวมทั้งช่วยให้แผลดูดีขึ้น และสามารถบรรเทาอาการโรคนอนไม่หลับ ปวดหัว ผมร่วง โรคเหงือกและฟัน โรคไต จนกระทั่งกระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ ท้องผูก ริดสีดวงทวาร รวมถึงช่วยบำรุงผิวหนัง รักษาผิวด่างดำ และอาการคันที่ผิวหนัง

แต่ปัจจุบันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ว่านหางจระเข้มีสารอยู่หลายตัวเลยทีเดียว คือ สารอะโลอิน สารอะโลไอโมติน อะโลติน มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคและเชื้อรา ส่วนสารอะโลมิติน มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเนื้องอก และสารชนิดสุดท้ายคือ สารอะโลอูรซิน ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยสมานแผล และล่าสุดยังพบสารตัวใหม่คือ glycoprotein มีชื่อว่า Aloctin A ซึ่งสามารถรักษาโรคได้หลายโรค เช่น มะเร็ง แก้อาการแพ้ รักษาไฟไหม้ และรักษาโรคผิวหนัง

การใช้ ว่านหางจระเข้ จะใช้ทั้งส่วนยางในใบ น้ำวุ้น เนื้อวุ้นมากที่สุด ซึ่งสรรพคุณของยางในใบ จะใช้เป็นยาระบาย โดยนำน้ำยางสีเหลืองระหว่างผิวนอกของใบกับตัววุ้นที่มีรสขม เพื่อให้คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนน้ำวุ้นจากใบ เมื่อนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด ฝานบางๆ ใช้รักษาแผลสดภายนอก น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำให้แผลเป็นจางลง ดับพิษร้อน ทาผิวป้องกันและรักษาอาการไหม้จากแสงแดด ทาผิวรักษาสิวฝ้า และขจัดรอยแผลเป็นได้

ส่วนเนื้อวุ้น สามารถใช้เหน็บทวารเพื่อรักษาริดสีดวงทวารได้ผลชะงัดนัก โดยภายหลังทำความสะอาดทวารหนักให้สะอาดและแห้ง เอาว่านหางจระเข้ปอกส่วนนอกของใบ แล้วเหลาให้ปลายแหลมเล็กน้อย เพื่อใช้เหน็บในช่องทวารหนัก ถ้าจะให้เหน็บง่าย ยิ่งถ้านำไปแช่ตู้เย็น หรือน้ำแข็งให้แข็ง จะทำให้สอดได้ง่ายขึ้น

หลายคนนิยมรับประทานว่านหางจระเข้ เพราะเชื่อว่าแก้กระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ โดยเอาใบมาปอกเปลือกออก เหลือแต่วุ้น และยังใช้แก้อาการปวดตามข้อ โดยการดื่มว่านหางจระเข้ทั้งน้ำ วุ้น หรืออาจจะใช้วิธีปอกส่วนนอกของใบออก เหลือแต่วุ้น นำไปแช่ตู้เย็นให้เย็นๆ จะช่วยให้รับประทานได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ยังเป็นความเชื่อ ซึ่งยังไม่ได้ทำการวิจัยอย่างจริงจัง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประโยชน์ของ “เนื้อกบ” สุดอร่อยที่คุณต้องลิ้มลอง

ขึ้นฉ่าย ผักสวนครัว สมุนไพรมีกลิ่นหอม ประโยชน์และโทษของคื่นฉ่าย

ประโยชน์ปลาเนื้ออ่อน กับเมนู ปลาคังลวกจิ้ม (เมนูปลา)