กระเทียมดีอย่างไร


กระเทียม” เป็นพืชล้มลุกชนิดมีหัวอยู่ใต้ดิน หัวจะประกอบไปด้วยกลีบเรียงซ้อนกันประมาณ 4 - 10 กลีบ บางพันธุ์จะมีเพียงกลีบเดียว เรียกว่า “กระเทียมโทน” กลีบมีกาบเป็นเยื่อบางๆ สีขาวอมชมพูหุ้มอยู่โดยรอบ กระเทียมเป็นพืชที่มีรากไม่ยาวนัก ใบมีลักษณะแบนยาว ปลายใบแหลม ที่โคนจะมีใบหุ้มซ้อนกัน ออกดอกเป็นช่อสีขาวติดเป็นกระจุกที่ปลายก้านช่อ

หลายคนรู้จักกระเทียมในฐานะสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมฉุน รสชาติเผ็ดร้อน และมีสารอาหารที่สำคัญ ประกอบด้วย กรดไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล กรดอะมิโน เหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 1 บี 2 และวิตามินซี นอกจากนี้ กำมะถัน ที่อยู่ในกระเทียมยังช่วยยับยั้งการเกิดสารไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง รวมทั้งมีซีลีเนียมที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ได้อีกด้วย

สำหรับสรรพคุณของกระเทียมก็มีอยู่มากมายเช่นกัน โดยการทานกระเทียมทั้งสดหรือแห้งเป็นประจำ จะสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลันได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ช่วยลดความดันโลหิต รวมทั้งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเส้นเลือดให้เป็นปกติได้

ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านั้น เพราะกระเทียมยังช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมทั้งช่วยป้องกันโรคหวัด วัณโรค ปอดบวม ไทฟอยล์ มาลาเรีย คอตีบ คออักเสบ และอหิวาตกโรคได้อีกด้วย


สำหรับวิธีการใช้กระเทียมเพื่อรักษาโรคต่างๆ นั้น มีดังนี้

กระเทียมสด ครึ่งกิโลกรัม ทุบพอแตก แช่ในน้ำหวานหรือน้ำผึ้ง 1 ถ้วย ประมาณ 1 สัปดาห์ รับประทานครั้งละ ½ ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง ใช้ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ และขับเสมหะได้

กระเทียมสด 5 - 7 กลีบ นำมาบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำตาล และเกลือเล็กน้อย แล้วกรองเอาแต่น้ำ ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร จะช่วยขับลมในกระเพาะ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้

กระเทียมสด คั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกี่ยวกับเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า รวมทั้งเชื้อราในช่องคลอดได้ หรือจะนำมาหยอดหูประมาณ 1 - 2 หยด วันละ 3 - 4 ครั้ง จะใช้รักษาอาการปวดหู หูอื้อ และหูตึงได้ด้วย

กระเทียมสดปอกเปลือก นำมาทุบหรือฝานทาในบริเวณที่เป็นแผล จะใช้รักษาแผลสดและแผลเป็นหนองได้

อย่างไรก็ดี การรับประทานกระเทียมก็ยังมีข้อจำกัด คือ ไม่ควรรับประทานกระเทียมหรือผลิตภัณฑ์กระเทียมเสริมในปริมาณที่มากเกินไป และไม่ควรใช้การรับประทานกระเทียมเพื่อหวังผลในการรักษาโรค หรือบำบัดอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะผลลัพธ์ที่ได้อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ตัวบุคคล ดังนั้น ทางที่ดีก็คือ ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะดีกว่า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประโยชน์ของ “เนื้อกบ” สุดอร่อยที่คุณต้องลิ้มลอง

ขึ้นฉ่าย ผักสวนครัว สมุนไพรมีกลิ่นหอม ประโยชน์และโทษของคื่นฉ่าย

ประโยชน์ปลาเนื้ออ่อน กับเมนู ปลาคังลวกจิ้ม (เมนูปลา)